วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

รวมภาพโครงการเก็บขยะสานมิตรภาพ

















 จากที่คณะจิตอาสาได้ลงทำกิจกรรมโครงการเก็บขยะสานมิตรภาพ ได้มีนักท่องเที่ยวบางส่วน ให้ความร่วมมือ และให้ความสนใจในกิจกรรมนี้ มากเท่าที่ควร

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การอนุรักษณ์สิ่งแวดล้อม ปลูกฝังในจิตใจ

“การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม”
ความหมายสิ่งแวดล้อม
รูปธรรม (สามารถจับต้องและมองเห็นได้) และนามธรรม (ตัวอย่างเช่นวัฒนธรรมแบบแผน ประเพณี ความเชื่อ) มีอิทธิพลเกี่ยวโยงถึงกัน เป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ผลกระทบจากปัจจัยหนึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างหรือทำลายอีกส่วนหนึ่ง อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ สิ่งแวดล้อมเป็นวงจรและวัฏสิ่งแวดล้อม คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวมนุษย์ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต รวมทั้งที่เป็นจักรที่เกี่ยวข้องกันไปทั้งระบบ
สิ่งแวดล้อมแบ่งออกเป็นลักษณะกว้าง ๆ ได้ 2 ส่วนคือ
·         สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ภูเขา ดิน น้ำ อากาศ ทรัพยากร
·
      
สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ชุมชนเมือง สิ่งก่อสร้างโบราณสถาน ศิลปกรรม
มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
มนุษย์มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างแนบแน่นในอดีตปัญหาเรื่องความสมดุลย์ของธรรมชาติตามระบบนิเวศยังไม่เกิดขึ้นมากนัก ทั้งนี้เนื่องจากผู้คนในยุคต้น ๆ นั้น มีชีวิตอยู่ใต้อิทธิพลของธรรมชาติ ความเปลี่ยนแปลงทางด้านธรรมชาติและสภาวะแวดล้อมเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงอยู่ในวิสัยที่ธรรมชาติสามารถปรับดุลย์ของตัวเองได้
กาลเวลาผ่านมาจนกระทั้งถึงระยะเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษที่ผ่านมา (ระยะสิบปี) ซึ่งเรียกกันว่า "ทศวรรษแห่งการพัฒนา" นั้น ปรากฎว่าได้เกิดมีปัญหารุนแรงด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในบางส่วนของโลกและปัญหาดังกล่าวนี้ ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันในทุกประเทศทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา เช่น
·         ปัญหาทางด้านภาวะมลพิษที่เกี่ยวกับน้ำ
·         หาทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมสลายและหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็ว เช่น น้ำมัน แร่ธาตุ ป่าไม้ พืช สัตว์ ทั้งที่เป็นอาหารและที่ควรจะอนุรักษ์ไว้เพื่อการศึกษา
·         ปัญหาที่เกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานและชุมชนของมนุษย์ เช่น การวางผังเมืองและชุมชนไม่ ถูกต้อง ทำให้เกิดการแออัดยัดเยียด ใช้ทรัพยากรผิดประเภทและลักษณะ ตลอดจนปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมและปัญหาจากของเหลือทิ้งอันได้แก่มูลฝอย

วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ขยะทำลายสิ่งแวดล้อม เราต้องกำจัดให้ถูกทาง


คุณเคยคิดไหมหากเราเอาสิ่งของที่เราจะทิ้งตามถนน  ซึ่งมันจะทำให้สิ่งแวดล้อมต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงดังนั้นเรามาร่วมกันนำสิ่งเหลือใช้มาสร้างสรรค์ผลงานกันดีกว่าค่ะ 


อุปกรณ์
เศษกางเกงยีนส์, ขวดพลาสติก, กรรไกร
วิธีทำ
  1. นำเศษผ้าจากเศษผ้ากางเกงยีนส์
  2. นำขวดพลาสติกขนาดเส้นรอบวง ประมาณข้อมือ ใช้กรรไกรตัดให้มีขนาดพอดีที่ต้องการใช้
  3. นำผ้ายีนส์ที่ตัดไว้ มาตกแต่งประดับให้สวยงาม นำไปหุ้มรอบพลาสติกที่เตรียมไว้
  4. ตกแต่ง เก็บรายละเอียดที่เหลือ
ขอขอบคุณเนื้อหาจากเว๊ปไซด์

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ปลูกป่าวันละนิดจิตแจ่มใส

วันนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความสนใจจากผู้คนมากที่สุดคือ  ปัญหาโลกร้อน หรือสภาวะเรือนกระจก  ซึ่งวิธีการแก้ปัญหา หรือลดความรุนแรงของปัญหานี้ได้ดีที่สุดก็คือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว หรือการปลูกต้นไม้เพิ่มนั่นเอง

เป็นความรู้ตั้งแต่สมัยมัธยมว่า ต้นไม้ช่วยลดโลกร้อนด้วยการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกเข้าไปเพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสง โดยตลอดอายุขัยของไม้ยืนต้น 1 ต้น จะสามารถเก็บกักคาร์บอนได้เฉลี่ย 1-1.7 ตันคาร์บอน และยังสามารถดูดซับก๊าซอื่นๆ ที่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมได้อีก เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ และก๊าซโอโซนเป็นต้น

นอกจากนี้ต้นไม้ 1 ต้นยังสามารถดักจับอนุภาคมลพิษบางชนิดได้ เช่น ฝุ่น ควัน ไอพิษต่างๆ ได้ถึง 1.4 กิโลกรัม/ปี

ต้นไม้ 1 ต้น จะปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนที่คนและสัตว์จำเป็นต้องใช้ในการหายใจออกมา ได้ถึง 200,000 – 250,000  ลิตรต่อปี ซึ่งสามารถรองรับความต้องการก๊าซออกซิเจนของมนุษย์ได้ถึง 2 คนต่อปี  (ความต้องการก๊าซออกซิเจนของคน = 130,000 ลิตร / คน / ปี)

แต่นอกจากประโยชน์ในการช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศแล้ว ต้นไม้ยัง เป็นแหล่งอาหาร ยารักษาโรค เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตนานาชนิด อาทิ ไลเคน มอส  เฟิร์น ไม้เถา และพืชอิงอาศัย สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเช่น มด  แมลง แมงมุม และสัตว์มีกระดูกสันหลังเช่น นก กิ้งก่า จิ้งจก งู กระรอก

ดินที่ร่วนซุย และอุดมสมบูรณ์ใต้ต้นไม้สามารถอุ้มน้ำได้ถึง 50% ในดินที่ร่วนซุยยังเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด เช่น ไส้เดือนดิน กิ้งกือ ตะขาบ กิ้งก่า กบเขียด หนู มดและแมลงต่างๆ

ต้นไม้ยังสามารถป้องกันแสงและความร้อนจากดวงอาทิตย์ น้ำที่ระเหยจากการคายน้ำที่ใบใบยังช่วยดูดความร้อนจากบรรยากาศ ทำให้อุณหภูมิบริเวณนั้นลดลงได้ถึง 3-5 องศาเซลเซียส หากปลูกต้นไม้ไว้บริเวณบ้านจะช่วยลดอุณหภูมิรอบๆ บ้านได้ถึง 2-4 องศาเซลเซียส และการปลูกต้นไม้ในรั้วบ้านยังเป็นการปรับปรุงทัศนียภาพ ตกแต่งบ้านให้สวยงามร่มรื่น

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประโยชน์ที่จะได้จากการปลูกต้นไม้เพียง 1 ต้น หากปลูกรวมกันหลายๆ ต้น เป็นสวน เป็นป่า เกิดเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้อยใหญ่ เป็นระบบนิเวศ จะก่อเกิดประโยชน์ต่างๆ อีกมากมายมหาศาลให้แก่มวลมนุษย์ ธรรมชาติ และโลกของเรา
feb_04_02_02

การลดโลกร้อน ตอนหนึ่ง


80 วิธีลดโลกร้อน (ตอนที่ 1)

       
   ประชาชนคนหนึ่งสามารถลดโลกร้อนด้วยการดำเนินวิถีชีวิตแบบพอเพียง โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในบ้านเรือนและอาคารสำนักงาน  ด้วยการปรับ  เปลี่ยนวิธีการใช้พลังงานไฟฟ้าน้ำมันเชื้อเพลิงรวมทั้งหาวิธีอื่นๆ  ที่จะช่วยให้โลกร้อนน้อยลงได้ด้วยตัวเอง
           1. ลดการใช้พลังงานในบ้าน  ด้วยการปิดทีวี คอมพิวเตอร์ เครื่องเสียง และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ  เมื่อไม่ได้ใช้งาน  จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้นับ  1,000  ปอนด์ต่อปี

           2. ลดการสูญเสียพลังงานในโหมดสแตนด์บาย เครื่องเสียงระบบไฮ-ไฟ โทรทัศน์ เครื่องบันทึกวิดีโอ  คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและอุปกรณ์พ่วงต่างๆ  ที่ติดมาด้วย จะยังคงมีการใช้ไฟฟ้าแม้ยังอยู่ในโหมด สแตนด์บาย ประหยัดไฟฟ้าและค่าไฟด้วยการดึงปลั๊กออก  หรือใช้ปลั๊กเสียบพ่วงที่ตัดไฟด้วยตัวเอง

           3. เปลี่ยนหลอดไฟ เป็นหลอดไฟประหยัดพลังงานแบบขดที่เรียกว่า compact fluorescent (CFL) แม้อาจจะมีราคาแพงกว่าหลอดแบบเดิม 3-5 เท่าแต่จะกินไฟเพียง 1 ใน 4 ของหลอดไฟแบบเดิม และมีอายุการใช้งานได้นานกว่าหลายปีมาก แต่เมื่อใช้งานหมดอายุแล้วจำเป็นต้องแยกทิ้งหลอดไฟในถังรีไซเคิลเฉพาะ เพราะตัวหลอดยังมีปรอทเคลือบอยู่ราวๆ 5 มิลลิกรัม

           4. เปลี่ยนไปใช้ไฟแบบหลอด LED จะได้ไฟที่สว่างกว่า และประหยัดกว่าหลอดปกติ 40% สามารถหาซื้อหลอดไฟ LED ที่ใช้สำหรับโคมไฟตั้งโต๊ะและตั้งพื้นได้ด้วย จะเหมาะกับการใช้งานที่ต้องการให้มีแสงสว่างส่องทาง เช่น ริมถนนหน้าบ้าน การเปลี่ยนหลอดไฟจากหลอดไส้ จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 150  ปอนด์ต่อปี

           5. ช่วยกันออกความเห็นหรือรณรงค์ ให้รัฐบาลพิจารณาข้อดีข้อเสียของการเรียกเก็บภาษีคาร์บอนกับ    ภาคการผลิต  ตามอัตราการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลรูปแบบต่างๆ หรือการใช้ก๊าซโซลีนเป็นรูปแบบการใช้ภาษีทางตรงที่เชื่อว่า หากโรงงานต้องจ่ายค่าภาษีแพงขึ้นก็จะลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล   ในกระบวนการผลิตลง ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการปล่อย CO2  ลงได้ประมาณ  5 %

           6. ไปร่วมกันประหยัดน้ำมันแบบ Car Pool นัดเพื่อนร่วมงานที่มีบ้านอาศัยใกล้ๆ  นั่งรถยนต์ไปทำงานด้วยกัน ช่วยประหยัดน้ำมันและยังเป็นการลดจำนวนรถติดบนถนน ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทางอ้อมด้วย

           7. ขับรถยนต์ส่วนตัวให้น้อยลง  ด้วยการปั่นจักรยานใช้รถโดยสารประจำทาง  หรือใช้การเดินแทนเมื่อต้องการไปทำกิจกรรมหรือธุระใกล้ๆ บ้าน  การขับรถยนต์น้อยลงหมายถึงการใช้น้ำมันลดลง  และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์  เพราะน้ำมันทุกๆ แกลลอนที่ประหยัดได้  จะลดคาร์บอนไดออกไซด์  20  ปอนด์

           8. จัดเส้นทางรถรับส่งพนักงาน  ถ้าในหน่วยงานมีพนักงานจำนวนมากอาศัยอยู่ในเส้นทางใกล้ๆ กัน ควรมีสวัสดิการจัดหารถรับส่งพนักงานตามเส้นทางสำคัญๆ เป็น Car Pool ระดับองค์กร

           9. เปิดหน้าต่างรับลมแทนเปิดเครื่องปรับอากาศ  ลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ไฟฟ้า เพื่อเปิดเครื่องปรับอากาศ ด้วยการเปิดหน้าต่างบ้านรับลมบ้าง โดยเฉพาะในหน้าหนาวหรือหน้าฝน      ที่อากาศภายนอกเย็นกว่าฤดูอื่นๆ กลัวยุงและแมลงก็ติดมุ้งลวดที่หน้าต่างเสียเลยหลายครั้งที่เรา      จะพบว่าโรงแรมและบ้านพักหลายแห่งที่อยู่ติดทะเลมีห้องพักที่ใช้พัดลมกับห้องพักมีเครื่องปรับอากาศ ให้เลือก  เลือกพักห้องพัดลมจะดีกว่า  ได้นอนฟังเสียงคลื่นพร้อมกับใช้ไฟฟ้าน้อยลง

           10. มองหาผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม  ครั้งต่อไปเมื่อจะซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ มองหาป้ายสัญลักษณ์ เช่น ป้ายฉลากเขียวประหยัดไฟเบอร์ 5 มาตรฐานผลิตภัณฑ์คุณภาพสินค้าเกษตรอินทรีย์  เพราะการจะได้ใบรับรองนั้นจะต้องมีการประเมินสินค้าตั้งแต่เริ่มต้นหาวัตถุดิบ

           11. ไปตลาดสดแทนซุปเปอร์มาเก็ตบ้าง ซื้อผักผลไม้ หมู ไก่ ปลา ในตลาดสดใกล้บ้านแทนการช้อปปิ้ง      ในซุปเปอร์มาเก็ตบ้าง  ที่อาหารสดทุกอย่างมีการหีบห่อด้วยพลาสติกและโฟมทำให้เกิดขยะจำนวนมากลองหิ้วตระกร้าหรือถุงผ้าไปจ่ายตลาดดูบ้าง

           12. เลือกซื้อเลือกใช้  เมื่อต้องซื้อรถยนต์ใช้ในบ้านหรือรถยนต์ประจำสำนักงานก็หันมาเลือกซื้อรถประหยัดพลังงาน  รวมทั้งเลือกอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟ  ทั้งในบ้านและอาคารสำนักงาน

           13. เลือกซื้อรถยนต์ที่มีขนาดตามความจำเป็น  โดยพิจารณาจากขนาดครอบครัวและประโยชน์การใช้งาน     ได้ขนาดแล้วก็พิจารณารุ่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเพื่อเปรียบเทียบราคา อาจลองใช้การจัดอันดับรถเพื่อสิ่งแวดล้อม

           14. ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเลือก รถโฟว์วีลขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อกินน้ำมันมาก ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าเลือกซื้อใช้   ตะแกรงขนสัมภาระบนหลังคารถ ก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นเพราะเป็นการเพิ่มน้ำหนักรถให้เปลืองน้ำมัน ยกเว้นจะเลือกแบบที่ถอดเข้าออกได้เผื่อจำเป็นต้องใช้งาน

           15. ขับรถอย่างมีประสิทธิภาพ ในระยะทางไกลการขับรถ ด้วยความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะช่วยลดการใช้น้ำมันลงได้ 20 % หรือคิดเป็นปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดได้ 1 ตันต่อรถยนต์แต่ละคันที่ ใช้งานราว  30,000  กิโลเมตรต่อปี

           16. ขับรถเร็วเที่ยวไปลดคาร์บอนไดออกไซด์ไปพร้อมกัน  แม้จะอยู่ในช่วงลาพักร้อนไปเที่ยวต่างประเทศ   เลือกเช่ารถรุ่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ใช้เอธานอลหรือน้ำมันเชื้อเพลิงทางเลือกอื่นๆ ด้วย ลองสอบถามบริษัทรถเช่าเมื่อเดินทางไปถึง

           17. เลือกใช้บริการโรงแรมที่มีสัญลักษณ์สิ่งแวดล้อม  ปัจจุบันโรงแรมหลายแห่งมีบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น มีมาตรการประหยัดน้ำ ประหยัดพลังงาน และมีระบบจัดการของเสีย มองหาป้ายสัญลักษณ์ เช่น โรงแรมใบไม้สีเขียว มาตรฐานผลิตภัณฑ์คุณภาพ

           18. เช็คลมยาง  การขับรถที่ลมยางอ่อนอาจทำให้เปลืองน้ำมันได้ถึง  3 %

           19. เปลี่ยนมาใช้พลังงานชีวภาพ  เช่น  ไบโอดีเซล  เอธานอลให้มากขึ้น

           20. โล๊ะทิ้งตู้เย็นรุ่นเก่า  ตู้เย็นที่ผลิตเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว  ใช้ไฟฟ้ามากเป็น 2 เท่าของตู้เย็นสมัยใหม่ที่มีคุณภาพสูง  ซึ่งช่วยประหยัดค่าไฟลงได้มาก และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์  100  กิโลกรัมต่อปี

วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กิจกรรมระหว่างนักเรียนและผู้ให้ความร่วมมือ













โครงการ
การเก็บขยะสานมิตรภาพ


ออกเดินทางจากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี                                                         8.30
ถึงที่หมาย(หัวหิน)                                                                                                      9.30
สัมภาษณ์นักท่องเที่ยว                                                                                10.00  -  10.30
นำบทสัมภาษณ์มาเรียบเรียง                                                                       10.45  -  12.20
รับประทานอาหารกลางวัน                                                                        12.25  -  12.45
เริ่มเก็บภาพกิจกรรม(เก็บขยะ)                                                                   12.50  -  13.00 

                                                                                             
 จากภาพข้างต้นข้าพเจ้าและเพื่อนๆได้ไปทำกิจกรรมที่หาดปรึกเตียน    ข้าพเจ้าได้ศึกษาข้อมูลจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง  ข้าพเจ้าจึงอยากขอบคุณเป็นอย่างมาก กับการที่พวกท่านให้ความร่วมมือกับข้าพเจ้าและนักเรียนในกลุ่ม  ทั้งนี้  ที่ข้าพเจ้าและเพื่อนได้ทำไป มิได้ต้องการสิ่งใด แต่ข้าพเจ้าต้องการทำให้เห็นว่า โลกต้องการคน ทุกคนมาช่วยกันทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น 

ขอบพระคุณมากค่ะ

วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การนำผักตบชวาไปใช้ประโยชน์

การนำผักตบชวาไปใช้ประโยชน์

ถิ่นกำเนิด ในแถบลุ่มน้ำอะเมซอน ประเทศบราซิล ในทวีปอเมริกาใต้ มีดอก สีม่วงอ่อน คล้ายช่อดอกกล้วยไม้ และแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วจนกลายเป็นวัชพืชที่ร้ายแรงในแหล่งน้ำทั่วไป

ปัญหาในแหล่งน้ำ ผักตบชวาได้ เข้ามาแพร่ระบาดในแหล่งน้ำจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อแม่น้ำ คูคลอง และระบบนิเวศน์ในประเทศไทย ผักตบชวามีการแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ใน 1เดือน ผักตบชวา 1 ต้นอาจขยายพันธุ์ได้มากถึง 1,000 ต้น และถึงแม้น้ำจะแห้งจนต้นตาย แต่เมล็ดของผักตบชวาก็ยังมีชีวิตต่อไปได้นานถึง 15 ปี และทันทีที่เมล็ดได้รับน้ำที่เพียงพอ มันก็จะแตกหน่อเป็นต้นใหม่ต่อไป จนกลายเป็นปัญหาทางน้ำ เป็นปัญหาต่อการสัญจรทางน้ำและต่อสภาวะแวดล้อม ซึ่งทวีความรุนแรงจนเป็นปัญหาระดับประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องเสียงบในการกำจัดผักตบชวา ซึ่งหน่วยงานและส่วนราชการและ อปท. ต่างต้องใช้เวลาและงบประมาณในการกำจัด ไม่ใช่น้อย ในการกำจัดผักตบชวา ตามแหล่งน้ำต่างๆ แต่ก็ยังไม่สามารถกำจัดให้หมดสิ้นไปได้

ปัญหาการสาธารณสุข เป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำซึ่งบางชนิดเป็นพาหะนำโรค เช่น หอยไบธีเนียที่เป็นพาหะนำโรคพยาธิใบไม้ในตับ เป็นที่อาศัยของลูกน้ำของยุงนำโรคเท้าช้าง เป็นที่อาศัยวางไข่ของยุงอื่นๆ ทำให้การใช้ยากำจัดในการกำจัดหอย เป็นไปได้โดยยากและสิ้นเปลืองมาก
- เป็นที่อาศัยสัตว์ร้าย เช่น งูพิษ ซึ่งเป็นอันตรายต่อราษฎร เมื่อแพผักตบชวาลอยไปติดเรือนแพ หรือ ท่าน้ำ หรือในการพัฒนาแหล่งน้ำโดยการใช้แรกงานดึงขึ้นจากน้ำ นอกจากนั้น หนูที่อาศัยอยู่บนแพ ผักตบชวา ก็อาจแพร่เชื้อโรคกาฬโรคได้

การนำมาใช้ประโยชน์ การใช้ประโยชน์จากผักตบชวา มีวิธีการต่างๆ เช่น

1. การทำสิ่งประดิษฐ์ ใช้ทำเป็นของใช้ต่างๆ เช่น กระเป๋าถือ เปลญวน เครื่องจักสาน
นำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับงานหัตถกรรม เช่น รองเท้าแตะ ตระกร้าใส่เสื้อผ้า ถาดรอง
ผลไม้ ถาดรองแก้วน้ำ กล่องใส่กระดาษทิชชู ฯลฯ

2. ด้านปศุสัตว์ ใช้เป็นอาหารสัตว์ ใบผักตบชวาใช้นำมา เลี้ยงสุกร เลี้ยงไก่ เนื่องจากมีคุณค่าทางสารอาหาร  พบว่าใบผักตบชวาเมื่อนำมาตากแห้งมีโปรตีนประมาณร้อยละ 14-20 ไขมันร้อยละ 1-2.5 กากหรือเยื่อใยประมาณร้อยละ17-19 คุณค่าทาง สารอาหารจะผันแปรตามความอ่อนแก่ของใบผักตบชวาใบอ่อนจะมี คุณค่าทางอาหารสูงกว่าใบแก่ และขึ้นอยู่กับสัดส่วนของก้านและใบ โดยทั่วไปส่วนของใบจะมีคุณค่า
ทางอาหารสูงกว่าก้านใบ

3. ด้านการเกษตร นำมาทำเป็นปุ๋ยหมัก สำหรับการปลูกพวกพืชผักอื่นๆ คลุมต้นไม้ที่ปลูกเอาไว้ให้เกิดความชุ่มชื้นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากผักตบชวามีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำได้ดี ทำเป็นวัสดุปรับปรุงดิน ใช้ในการเพาะเห็ดโดยนำผักตบชวาขึ้นมาจากน้ำปล่อยทิ้งเอาไว้ประมาณชั่วโมงเศษๆ ใช้มีดสับเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 5-10 ซม. ทั้งส่วนราก ลำต้นและใบ แล้วจึงนำไปเพาะเห็ดฟางได้เหมือนกับการเพาะโดยใช้ฟางข้าว

4. ด้านอาหาร ดอกอ่อนและก้าน ใบอ่อน กินเป็นผักลวกจิ้มน้ำพริกหรือทำแกงส้ม

5. ด้านสมุนไพร ใช้แก้พิษภายในร่างกาย และขับลม ใช้ทาหรือพอกแก้แผลอักเสบ

6. ด้านการบำบัดน้ำเสีย ใช้ผักตบชวากรองน้ำเสีย เพราะผักตบชวามีคุณสมบัติทำหน้าที่เป็นตัวกรอง ซึ่งเรียกว่า เครื่องกรองน้ำธรรมชาติ คือ การนำผักตบชวา ซึ่งเป็นวัชพืชที่มีอยู่มาก มาทำหน้าที่ดูดซับความโสโครก และสารพิษจากแหล่งน้ำเน่าเสีย และในเวลาเดียวกัน ก็ต้องหมั่นนำผักตบชวาออกจากบึงทุกๆ 10 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้ผักตบชวามี
การเจริญพันธุ์จนบดบังแสงแดดที่จะส่องลงไปในบึง สถานที่แรกในประเทศไทยที่ใช้
การบำบัดด้วยวิธีนี้คือ "บึงมักกะสัน" ซึ่งเป็นโครงการบึงมักกะสันอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยใช้หลักการบำบัดน้ำเสียตามแนวทฤษฎีการพัฒนาโดยการกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวา

7. ด้านพลังงาน โดยใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยใช้ผักตบชวาเป็นตัวเชื่อมประสานในการทำ
แท่งเชื้อเพลิงจากฟางข้าวและแกลบ

เนื้อหาจาก
http://www.reo06.net/home/images/upload/file/report/pranom250609.pdf

วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การลดขยะของญี่ปุ่น

แนวทางในการป้องกัน  สามารถทำได้โดย
     
1. การสร้างจิตสำนึกและควรตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม การดำเนินการแก้ไข  ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะสำเร็จไม่ได้  ถ้าขาดความร่วมมือจากทุกคน  ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คือผู้ผลิต จะต้องมีจิตสำนึกถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตนเป็นผู้กระทำขึ้นมา  มีการใช้ทรัพยากรอย่างระมัด ระวัง  ประหยัด  มีการบำบัด  และการกำจัดของเสียที่ตนเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้นมา  ใช้หลักการจัดการที่ดีในขบวนการผลิตให้เกิดของเสียน้อยที่สุด ในส่วนผู้บริโภค หรือประชากรก็จะต้องมีจิตสำนึกที่จะ เลิก  และ ลดการใช้ผลผลิตทีก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ของเสียที่ตนเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้น มีการใช้ผลผลิตอย่างประหยัด  ลดการฟุ่มเฟือย
     2. ชุมชน จะต้องให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน ให้ภาครัฐบาลสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ
     3. ภาคเอกชนร่วมมือบทบาทกับรัฐบาล
     4. การมีส่วนร่วมของประชาชน และรู้ถึงขอบเขตสิทธิ และผลประโยชน์ ของแต่ละบุคคลด้านสิ่งแวดล้อมตลอดจนเกิดแนวความคิดที่เป็นส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของสิ่งแวดล้อมที่ปลอดจากมลภาวะมลพิษ
     5. การปฏิบัติตามนโยบาย ข้อกฏหมาย และระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับมลภาวะอย่างถูกต้อง และเคร่งครัด
         - แยกขยะเปียกจำพวกเศษอาหาร และขยะแห้งจำพวกเศษกระดาษ ถุงพลาสติกออกจากกัน โดยจัดหาภาชนะรองรับขยะที่แยกจากกั่น เพื่อให้สะดวกสำหรับการเก็บขนขยะและการแยกกำจัด
        - ไม่ทิ้งขยะในพื้นที่ว่างเปล่า สวนสาธารณะ คู คลอง หรือข้างถนน ระลึกไว้เสมอว่าการทิ้งขยะลงในร่องน้ำ หรือท่อระบายน้ำ  นอกจากจะทำให้เกิดตื้นเขินและการอุดตันแล้ว ผลที่สุด ขยะที่เน่าเหม็นก็จะระบายออกสู่คูคลองสาธารณะและแม่น้ำ
        - การวางขยะที่บรรจุในภาชนะเพื่อรอการขควรจัดหาฝาปิดถังขยะให้เรียบร้อยป้องกันการคุ้ยเขี่ยของสุนัขหรือสัตว์เลี้ยง
        - นำขยะไปทิ้งในที่ที่จัดไว้แล้วนั้น
        - ไม่ละเลยที่จะเก็บขยะที่มีผู้อื่นทิ้งไว้ เพราะการทำดีย่อมเป็นที่ประจักษ์ได้
        - กระดาษหนังสือพิมพ์  กระป๋องหรือขวดแก้ว  สามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้
การกำจัดขยะมูลฝอย
     
วิธีการกำจัดขยะมูลฝอย ( Method of Refuse Disposal ) มีหลายวิธีด้วยกัน เป็นวิธีที่ดีถูกสุขลักษณะบ้างไม่ถูกสุขลักษณะบ้าง เช่น นำไปกองไว้บนพื้นดิน, นำไปทิ้งทะเล, นำไปฝังกลบ, ใช้ปรับปรุงพื้นที่, เผา, หมักทำปุ๋ย, ใช้เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ การจัดการและการกำจัดขยะ แต่ละวิธีต่างมีข้อดีข้อเสียต่างกัน การพิจารณาว่าจะเลือกใช้วิธีใดต้องอาศัยองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ที่สำคัญ คือ ปริมาณของขยะที่เกิดขึ้น รูปแบบการบริหารของท้องถิ่น, งบประมาณ, ชนิด ลักษณะสมบัติของขยะมูลฝอย, ขนาด สภาพภูมิประเทศของพื้นที่ที่จะใช้กำจัดขยะมูลฝอย, เครื่องมือเครื่องใช้, อาคารสถานที่, ความร่วมมือของประชาชน, ประโยชน์ที่ควรจะได้รับ, คุณสมบัติของขยะ เช่น ปริมาณของอินทรีย์ อนินทรีย์สาร การปนเปื้อนของสารเคมีที่มีพิษและเชื้อโรค ปริมาณของของแข็งชนิดต่าง ๆ ความหนาแน่น ความชื้น
     ขยะที่เกิดขึ้นในชุมชนเมืองมีแหล่งที่มาจาก อาคาร บ้านเรือน บริษัท ห้างร้าน โรงงาน อุตสาหกรรม โรงพยาบาล ตลาด และสถานที่ราชการ ขยะที่ทิ้งในแต่ละวันจะประกอบด้วยเศษอาหาร กระดาษ เศษแก้ว เศษไม้ พลาสติก เศษดิน เศษหิน ขี้เถ้า เศษผ้า และใบไม้ กิ่งไม้ โดยมีปริมาณของสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน
     การกำจัดขยะมูลฝอย ถ้าไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการจะก่อให้เกิดผลกระทบ เสียหายต่อสิ่งแวดล้อม เกิดผลร้ายต่อชีวิต เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย การกำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกสุขลักษณะจะต้องมีลักษณะ ดังนี้
     1. ต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ เสียหายต่อการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข และวิถีชีวิตที่ดีงาม ตลอดจนองค์ประกอบของสังคมด้านใดๆ
     2. ต้องไม่ก่อให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์หรือแมลงที่เป็นพาหะนำโรค เช่น แมลงวัน แมลงสาบ หนู ยุง สัตว์พิษ ที่กัดต่อยมนุษย์ สัตว์เลี้ยง เช่น ตะขาบ งู
     3. ต้องไม่ก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อน รำคาญ ขัดประโยชน์ ต่อประชาชนในอาณาบริเวณใกล้เคียงกัน อันเนื่องมาจากฝุ่นละออง เสียงดัง กลิ่นเหม็น อุจจาดตา เศษขยะปลิวกระจายเกะกะ ฯลฯ
     4. ต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ มลพิษทางดิน มลพิษทางทัศนียภาพ
     การกำจัดขยะมูลฝอยในแต่ละวิธีต่างก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ฉะนั้นควรเลือกวิธีที่เหมาะสม ของแต่ละพื้นที่ โดยกระทำควบคู่กันไปทั้งการลดปริมาณขยะมูลฝอย การนำกลับไปใช้ใหม่ และการกำจัดขยะมูลฝอย สิ่งสำคัญที่ควรได้รับการส่งเสริมให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือ การลดปริมาณขยะ ซึ่งมีแผนหรือแนวคิด 5 R.
          R. 1 ( Reduce ) เป็นการลดปริมาณมูลฝอยที่อาจเกิดขึ้น เช่น ใช้ตะกร้าใส่ของแทนถุงพลาสติก การลดปริมาณวัสดุ ( Reduce material volume ) เป็นการพยายามเลือกใช้สินค้าที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่แทนบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดเล็ก เพื่อลดปริมาณของบรรจุภัณฑ์ที่จะกลายเป็นขยะมูลฝอย การลดความเป็นพิษ ( Reduced toxicit ) เป็นการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
          R. 2 ( Reuse ) นำขยะมูลฝอยเศษวัสดุมาใช้ใหม่อีกหรือเป็นการใช้ซ้ำ ใช้แล้วใช้อีก ๆ เช่น ขวดน้ำหวาน นำมาบรรจุน้ำดื่ม ขวดกาแฟที่หมดแล้ว นำมาใส่น้ำตาล การนำผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ ( Product reuse ) เป็นการพยายามใช้สิ่งของต่าง ๆ หลาย ๆ ครั้ง ก่อนที่จะทิ้งหรือเลือกใช้ของใหม่
          R. 3 ( Repair ) การนำมาแก้ไข นำวัสดุอุปกรณ์ที่ชำรุดเสียหาย ซึ่งจะทิ้งเป็นมูลฝอยมาซ่อมแซมใช้ใหม่ เช่น เก้าอี้
          R. 4 ( Recycle ) การหมุนเวียนกลับมาใช้ นำขยะมาแปรรูป ตามกระบวนการของแต่ละประเภท เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงสภาพจากเดิมแล้วนำมาใช้ใหม่ เช่น พลาสติก กระดาษ ขวด โลหะต่าง ๆ ฯลฯ นำมาหลอมใหม่ นำยางรถยนต์ที่ใช้ไม่ได้แล้วมาทำรองเท้า นำแก้วแตกมาหลอมผลิตเป็นแก้วหรือกระจกใหม่ การนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ( Material recycling ) เป็นการนำวัสดุมาผ่านกระบวนการเพื่อผลิตเป็นสินค้าใหม่
          R. 5 ( Reject ) การหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่ทำลายยาก หรือวัสดุที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น โฟม ปฏิเสธการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายยาก หลีกเลี่ยงการใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์ 
การจัดการและกำจัดขยะมูลฝอยที่ใช้กันอยู่ มีวิธีต่าง ๆ ดังนี้
      1. การนำขยะไปหมักทำปุ๋ย ( Composting method ) โดยแยกขยะอันตราย ขยะติดเชื้อออกไปกำจัดเป็นพิเศษเสียก่อน ส่วนขยะพวกสารอินทรีย์ย่อยสลายได้ง่าย พวกผักผลไม้ไม่ต้องการ เมื่อปล่อยทิ้งไว้จะเกิดการเน่าเปื่อย สามารถนำขยะที่ผ่านการย่อยสลายนั้นมาใส่ปรับปรุงคุณภาพดินได้ นำขยะไปทำเป็นปุ๋ยสำหรับใช้บำรุงดินเพื่อการเกษตรการย่อยสลายตามกระบวนการธรรมชาติ ( Composting ) เป็นการนำขยะประเภทอินทรีย์วัตถุไปรวมกันไว้ แล้วปล่อยให้ขยะถูกย่อยสลายไปเองตามธรรมชาติหรือโดยวิธีช่วยกระตุ้นให้ขยะถูกย่อยสลายเร็วขึ้น การกำจัดขยะโดยวิธีนี้ใช้กันทั่วไปในยุโรปและเอเซีย ในประเทศไทยเองโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครก็ใช้วิธีนี้คือ การนำขยะไปรวมกันไว้ในแหล่งรวมขยะ เช่นที่ รามอินทรา แขวงท่าแร้ง หนองแขม และซอยอ่อนนุช จนขยะเหล่านั้นเปลี่ยนสภาพไป นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังใช้หลักการกำจัดขยะดังกล่าว โดยการนำขยะประเภทอินทรีย์วัตถุไปผลิตเป็นปุ๋ยจำหน่ายแก่ประชากรทั่วไป
        การกำจัดขยะโดยวิธีนี้ จะมีปัญหาอยู่ที่การแยกขยะประเภทอินทรีย์วัตถุออกมาจากขยะประเภทอื่น ๆ บริเวณที่รวมขยะอาจไม่อยู่ห่างไกลจากชุมชนและขยะที่นำมากองรวมไว้ในปริมาณมากจะส่งกลิ่นเหม็น ทำให้แหล่งน้ำในบริเวณใกล้เคียงเน่าเสีย เกิดทัศนียภาพที่ไม่น่าดู และจำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการกำจัดขยะเป็นบริเวณกว้าง ขยะประเภทอินทรีย์สารที่สามารถย่อยสลายได้ที่นำไปรวมกันไว้ จะอาศัยกระบวนการทางชีวเคมีของจุลินทรีย์ให้กลายเป็นแร่ธาตุที่ค่อนข้างคงรูป ที่เรียกว่า ปุ๋ย มีสีเทา หรือน้ำตาลเข้มเกือบดำ ไม่มีกลิ่น กากที่เหลือจากการย่อยสลายจะมีลักษณะคล้ายดินร่วม มีความร่วนซุยสูง มีประสิทธิภาพในการอุ้มน้ำได้ดี ดูดซึมน้ำได้ดี แลกเปลี่ยนประจุไฟฟ้ากับผิวดินได้ดีเท่ากับดินเหนียว จึงเหมาะที่จะนำปุ๋ยนี้ไปใช้ในการปรับสภาพดิน แม้ดินทรายเมื่อนำปุ๋ยนี้ไปใส่ จะทำให้อุ้มน้ำได้ดีขึ้น หรือใช้กับดินเหนียวจะทำให้ดินร่วนซุยขึ้น และยังสามารถนำไปเป็นอาหารของพืชเพื่อบำรุงต้นไม้ได้ดี มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืช คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซียม ซึ่งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ไม่ทำให้ดินเป็นกรดหรือด่าง
        ขยะที่เก็บมากองรวมกันไว้นั้น มักจะมีอินทรีย์วัตถุปนอยู่ไม่น้อย ซึ่งขยะประเภทนี้เป็นอาหารของ จุลินทรีย์ในธรรมชาติ จะเกิดปฏิกิริยาการย่อยสลายอินทรีย์สารด้วยจุลินทรีย์ ซึ่งมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ คือ Aerobic organisms ซึ่งมีความร้อนเกิดจากปฏิกิริยาของจุลินทรีย์ อันเป็นความร้อนเกิดจากการสลายตัวของขยะ สูงถึง 65oC เมื่อทำการหมักในเวลานาน ก็จะทำให้เชื้อโรคและพยาธิถูกทำลายไปได้ กับอีกกลุ่มคือ Anaerobic organisms ก็มีความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยา แม้จะไม่สูงมากนัก แต่เชื้อจุลินทรีย์และพยาธิต่าง ๆ ก็จะตายได้เหมือนกัน ความร้อนนำไปใช้เป็นพลังงานได้ การหมักด้วย Aerobic process จะต้องปรับปรุงสภาวะของขยะให้เหมาะสมก่อนหมัก เช่น ขนาดของขยะไม่ควรโตกว่า 5 ซม. ความชื้น 40 – 65 % ต้องพยายามคัดแยกวัตถุพวกที่ไม่ย่อยสลายออกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ถังหมักจะต้องมีช่องให้อากาศผ่านได้ โดยอาจจะต้องใช้เครื่องเป่าอากาศช่วย พร้อมทั้งจะต้องมีการกลับขยะให้สัมผัสอากาศอยู่เสมอ จึงจะย่อยสลายได้อย่างรวดเร็ว ระยะเวลาที่ใช้หมักประมาณ 5 – 20 วัน แต่การหมักด้วย Anaerobic Process ไม่ต้องใช้อากาศช่วย จึงหมักได้ในถังปิดหรือในหลุมดิน ความชื้นควรสูงเกินกว่า 70oC ขึ้นไป ถ้าใช้ถังปิดจะต้องมีท่อระบายก๊าซออก ขยะจากกสิกรรมและพวกมูลสัตว์ จะได้พวกก๊าซชีวภาพ ( Bio – gas ) ซึ่งมีปริมาณมีเทน ( CH4 ) ปะปนอยู่ 40 – 70 % โดยปริมาตรทำให้สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้ม แสงสว่าง ตู้เย็น เครื่องยนต์
       เกิดปฏิกิริยาเคมีดังนี้ CH4 + 2O2 ? 2H2O + CO2 + Heat
      ข้อดี ของการกำจัดขยะมูลฝอยแบบหมักทำปุ๋ย
         - ได้ปุ๋ย ไปใช้
         - ตั้งโรงงานกำจัดในเขตชุมชนได้ ถ้าหากมีมาตรการป้องกันความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และเหตุรำคาญ ประหยัดค่าขนส่ง
         - การแยกขยะมูลฝอย ก่อนหมักทำปุ๋ย จะได้เศษโลหะแก้ว กลับไปทำประโยชน์ได้อีก
      ข้อเสีย
         - ถ้าดำเนินการไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการจะเกิดปัญหากลิ่นเหม็น เนื่องจากการย่อยสลายไม่สมบูรณ์
         - สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการแยกขยะมูลฝอยที่ย่อยสลายไม่ได้ เพื่อนำไปกำจัดโดยวิธีอื่น
      2. การนำขยะไปเทกองกลางแจ้ง หรือการนำขยะไปทิ้งไว้ตามธรรมชาติ ( Open Dump ) เทศบาล สุขาภิบาล ในประเทศไทย มีให้เห็นกันอยู่ทั่วไป เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฝังกลบ วิธีนี้มีปัญหา เรื่องกลิ่นรบกวนรุนแรง เป็นการรบกวนผู้ที่อาศัยใกล้เคียงก่อปัญหาเกี่ยวกับทัศนียภาพ การแพร่กระจายของเชื้อโรค สัตว์แมลงต่าง ๆ เช่น แมลงวัน แมลงหวี่ และยังพบปัญหาน้ำชะจากกองขยะ เกิดความเน่าเสียแก่น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน การจัดการกับขยะวิธีนี้เป็นวิธีเก่าแก่ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมานานแล้ว เป็นวิธีที่นำขยะไปกองทิ้งไว้ในที่ดินกว้าง ๆ เฉย ๆ แล้วปล่อยให้ย่อยสลายตามธรรมชาติเป็นการกำจัดขยะที่ง่ายและลงทุนน้อย แต่ในปัจจุบันที่ดินแพงมาก ที่สาธารณะ หรือที่รกร้างว่างเปล่าก็เกือบไม่หลงเหลืออยู่เลย วิธีนี้ต้องใช้พื้นที่มากด้วยและชุมชนเมืองยิ่งขยายตัวมากขึ้น การนำขยะไปกองทิ้งไว้ในพื้นที่กว้างขวางเช่นนี้จึงไม่เหมาะสม เศษวัสดุบางอย่างในกองขยะใช้เวลานานกว่าจะย่อยสลาย เช่น โฟม ไม่ย่อยสลาย, กระป๋องดีบุก 1,000 ปี, กระป๋องอลูมิเนียม 200 – 500 ปี, ถุงพลาสติก 450 ปี, ก้นบุหรี่ 12 ปี, ถุงเท้าขนแกะ 1 ปี, กระดาษ 2 – 5 เดือน, ผ้าฝ้าย 1 – 5 เดือน
         ข้อดี ของการกำจัดขยะโดยนำไปกองไว้กลางแจ้งแทบไม่มีเลย เป็นวิธีที่เลวที่สุด เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ถ้ามีที่ดินอยู่แล้ว
         ข้อเสีย
           - รบกวนผู้ที่อยู่ใกล้เคียง
           - แพร่กระจายเชื้อโรค
           - ก่อเกิดปัญหามลพิษทางน้ำ ดิน อากาศ ทัศนียภาพ
           - ใช้พื้นที่มาก
         วิธีกองไว้ให้เน่าเปื่อย แต่วิธีนี้ใช้ได้ผลดีต่อเมื่อชุมชนมีผู้ผลิตขยะน้อยเท่านั้น นอกจากนี้แล้ว ขยะต้องเป็นวัตถุที่เน่าเปื่อยไปตามธรรมชาติได้ง่าย เช่น ใบตอง เศษอาหาร เชือกกล้วย แต่ส่วนใหญ่ในเมืองไทยยังใช้วิธีขจัดขยะด้วยวิธีนี้แทบทุกแห่ง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาทางด้านกลิ่นรบกวน
     3. การเผาด้วยความร้อนสูง หรือการกำจัดโดยใช้เตาเผา หรือการสร้างโรงงานเผาขยะ ( Incineration )
         ข้อดี คือใช้พื้นที่น้อย และสามารถนำความร้อนที่เกิดจากการเผาขยะไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้อีก เช่น ผลิตไฟฟ้า แต่มีข้อเสียจำกัดที่ราคาในการก่อสร้างและดำเนินการเผาสูง และยังอาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศได้ การสร้างโรงงานเผาขยะ ( Incineration ) เป็นการเก็บขยะไปเผาในเตาเผาในโรงงานที่จัดสร้างขึ้นโดยใช้ความร้อนสูงประมาณ 1,700 – 1,800 องศาฟาเรนไฮด์ ( หรือ 676o – 1,100o เซลเซียส ) ซึ่งจะทำให้ขยะมูลฝอยที่เผาไหม้ได้ถูกเผาอย่างสมบูรณ์กลายเป็นขี้เถ้า ทำให้ขยะลดปริมาณลงได้ดีถึงร้อยละ 75 – 95 การกำจัดขยะโดยวิธีนี้ช่วยให้ลดปริมาณขยะลงได้มาก โดยเพียงแต่นำขี้เถ้าที่เหลือจากการเผาไปทิ้งในบริเวณที่จัดไว้ต่อไป
         ข้อเสีย ของการกำจัดขยะโดยวิธีนี้คือ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงงาน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ การดูแลรักษาค่อนข้างสูง ต้องแยกขยะที่เผาไหม้ได้และที่เผาไหม้ไม่ได้ออกจากกัน และการเผาขยะเองก็ย่อมให้เกิดอากาศเสียขึ้น อย่างไรก็ตาม การกำจัดขยะโดยการเผาในโรงงานนี้เป็นที่นิยมใช้กันมาก เพราะเป็นวิธีการกำจัดขยะที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน
         การเผา ( Incineration ) หมายถึงการกำจัดขยะโดยการเผาด้วยเตาเผาขยะ ( Incinerator ) ไม่รวมถึงการกองแล้วเผากลางแจ้ง ทั้งนี้เพราะการเผากลางแจ้งจะอยู่ในอุณหภูมิไม่พอที่จะทำให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ได้ จึงมักจะเกิดปัญหาภาวะมลพิษในอากาศ ( air pollution ) และก่อให้เกิดความรำคาญเนื่องจากกลิ่นควัน และละอองเขม่า การเผาด้วยเตาเผาขยะควรมีความร้อนระหว่าง 676o – 1,100o เซลเซียส ความร้อนตั้งแต่ 676o เซลเซียสขึ้นไปจะช่วยทำให้ก๊าซเผาไหม้ได้อย่างสมบูรณ์ ถ้าความร้อนเกินกว่า 760o เซลเซียส จะช่วยทำให้ไม่มีกลิ่นรบกวนการเผาไหม้จะสมบูรณ์มากที่สุดเมื่อมีอุณหภูมิ 1,100o เซลเซียส ดังนั้น ถ้ามีขยะสดหรือขยะเปียกปนอยู่มาก ขยะมีความชื้นสูงก็อาจจะต้องใช้เชื้อเพลิงช่วยในการเผาไหม้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของขยะกับปริมาณของขยะแห้งที่เผาไหม้ได้ปะปนอยู่ด้วยมากน้อยเพียงใด โดยปกติแล้วเตาเผาขยะที่ดีจะไม่ก่อให้เกิดสภาวะมลพิษในอากาศ
         การเผาขยะด้วยเตาเผาขยะเหมาะสมมากที่จะใช้ในการกำจัดขยะพิเศษบางชนิด เช่น ขยะที่มีการ ปนเปื้อนของเชื้อโรค และขยะที่มีส่วนที่เผาไหม้ได้ปนอยู่ด้วยมาก ข้อดีของการเผาขยะในเตาเผา คือ ใช้พื้นที่น้อย สามารถสร้างเตาเผาไว้ในชุมชนซึ่งจะช่วยลดค่าขนส่งขยะ อีกทั้งกากที่เหลือจากการเผาไหม้จะปราศจากอินทรีย์สารที่ย่อยสลายได้อีกต่อไป อนึ่ง เตาเผาขยะสามารถใช้เผาขยะได้แทบทุกชนิด แม้บางชนิดไม่ไหม้ไฟก็อาจยุบตัวลง และสภาพของดินฟ้าอากาศไม่เป็นปัญหาในการกำจัด สามารถปรับระยะเวลาในการทำงานได้ ข้อเสียของการใช้เตาเผาขยะ คือ เตาเผาขยะมีราคาแพง หาทำเลที่ตั้งเตาเผาลำบาก เพราะราษฎรรังเกียจว่าอาจจะก่อให้เกิดความรำคาญและภาวะมลพิษในอากาศได้
         การกำจัดขยะโดยใช้เตาเผาในต่างประเทศนิยมใช้มาก เนื่องจากสามารถลดปริมาณขยะมูลฝอยได้สูงถึงร้อยละ 75 – 95 ใช้พื้นที่น้อย สามารถนำพลังงานความร้อนที่ได้ใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น นำไปต้มน้ำเพื่อนำเอาไอน้ำไปให้ความร้อนแก่อาคารประเภทต่าง ๆ ตลอดจนนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยได้มีโครงการสร้างไฟฟ้าจากขยะมูลฝอยอยู่แล้ว 4 โครงการด้วยกัน คือ 1. โครงการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 2. โครงการของเทศบาลจังหวัดสมุทรปราการ 3. โครงการของกรุงเทพมหานคร และ 4. โครงการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จังหวัดเชียงใหม่ เตาเผาขยะนี้ยังเหมาะสำหรับการกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อจากโรงพยาบาลต่าง ๆ อีกด้วย ขยะมูลฝอยที่เหมาะสมสำหรับการจำกัดโดยวิธีเผาต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ ความชื้นไม่เกิน 50 % มีสารที่เผาไหม้ได้อย่างน้อย 25 % และมีสารที่เผาไหม้ไม่ได้ไม่เกิน 60 % ในกรณีที่ขยะมูลฝอยไม่มีลักษณะดังกล่าวข้างต้น เตาเผาขยะจะต้องออกแบบให้นำเชื้อเพลิงอย่างอื่นเข้ามาช่วยในการเผาไหม้ เนื่องจากตัวขยะมูลฝอยเองไม่สามารถให้ความร้อนได้เพียงพอ นอกจากนี้แล้วจะต้องมีการออกแบบหรือใช้เทคโนโลยีที่จะป้องกัน ควบคุมมิให้กระบวนการเผาไหม้ อุณหภูมิ ควัน ฝุ่นละออง ไอเสีย เถ้า ฯลฯ เกิดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งมลพิษทางอากาศ
         ข้อดี ข้อเสียของการกำจัดขยะมูลฝอยโดยวิธีการใช้เตาเผา
         ข้อดี
            - ใช้พื้นที่น้อย เมื่อเทียบกับวิธีการฝังกลบขยะมูลฝอย
            - กำจัดขยะมูลฝอยได้เกือบทุกชนิด และขี้เถ้าที่เหลือจากการเผามีน้อยไม่มีปัญหาในการกำจัดขั้นต่อไป
            - หากเป็นเตาเผาขนาดใหญ่ ไม่จำเป็นต้องอาศัยเชื้อเพลิงอย่างอื่นเข้ามาช่วย
            - สามารถก่อสร้างเตาเผาไว้ใกล้เคียงกับแหล่งกำเนิดของขยะมูลฝอยได้ ทำให้ประหยัดค่าขนส่ง
            - สามารถนำพลังงานความร้อนมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น นำมาผลิตกระแสไฟฟ้า
         ข้อเสีย
            - ค่าลงทุนในการก่อสร้างสูงมาก โดยเฉพาะเตาเผาขนาดใหญ่
            - ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบำรุงรักษาค่อนข้างสูง รวมทั้งมีความร้อนสูง จึงทำให้เกิดการสึกหรอง่าย
            - เตาเผาขนาดใหญ่ไม่เหมาะสมสำหรับการกำจัดขยะมูลฝอยที่มีปริมาณน้อยกว่า 1 ตันต่อวัน
            - เตาเผาขนาดเล็กมักพบปัญหาเกี่ยวกับกลิ่นและควันที่เกิดจากการเผาไหม้
            - การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมมลพิษจากการเผาขยะ จะทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง
        วิธีการเผา ขยะที่นำมาเผาต้องผ่านการคัดเลือก คือ ของที่ไหม้ไฟได้ ซึ่งเศษวัสดุบางอย่างเมื่อถูก ความร้อนก็ยังปล่อยก๊าซที่เป็นพิษออกมาเช่น พวกโฟม พลาสติกบางประเภท พวกนี้ต้องแยกออกต่างหาก ในเมืองใหญ่ถ้าเทศบาลต้องแยกเองก็ต้องเพิ่มต้นทุนลงไปในขบวนการสูงมาก นอกจากนี้ขยะในเมืองไทยนั้นค่อนข้างแฉะ การระบายขยะประเภทนี้อาจต้องใช้พลังงานช่วย ซึ่งก็ยิ่งสิ้นเปลืองขึ้นไปใหญ่ แต่เมืองใหญ่ของกรุงเทพฯ นั้นดูเหมือนไม่มีทางเลือก เพราะใช้วิธีอื่นไม่ได้ผล เหตุนี้รัฐบาลจึงมีความคิดในเรื่องการตั้งโรงงานเผาขยะขนาดใหญ่ ๆ กันขึ้น ซึ่งมีราคาแพงมาก
     4. การฝังกลบอย่างถูกสุขอนามัยหรือถูกหลักสุขาภิบาล ( Sanitary Landfill )
         นิยมใช้วิธีนี้กันมาก เพราะค่าใช้จ่ายต่ำ บริเวณที่มีการฝังกลบอย่างถูกสุขอนามัยจะมีการปูพลาสติกพิเศษเพื่อป้องกันน้ำชะจากกองขยะ เมื่อเทกองขยะแล้วก็จะกลบเสร็จในแต่ละวัน วิธีนี้จะสามารถลดกลิ่น รบกวน ลดการแพร่กระจายจากสัตว์น้ำ โรคต่าง ๆ ตลอดจนสามารถควบคุมน้ำชะจากกองขยะได้ การปรับปรุงพื้นที่ด้วยขยะ ( Sanitary Landfill ) เป็นวิธีกำจัดขยะที่นิยมแพร่หลายโดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสามารถกำจัดขยะ mixed refuse ได้โดยไม่ต้องคัดแยกขยะ และสามารถปรับปรุงพื้นที่ ให้เป็นพื้นที่ที่ดีมีประโยชน์ได้
         ในการปรับปรุงพื้นที่ด้วยขยะ ทำได้โดยนำเอาขยะมาบดอัดลงในดินด้วยรถแทรกเตอร์ แล้วใช้ดินกลบทับหน้าขยะพร้อมบดอัดทับให้แน่นอีกครั้ง ทำเป็นชั้น ๆ จนสามารถปรับระดับพื้นดินได้ตามต้องการ ปล่อยให้ขยะเกิดการสลายตัว สามารถใช้พื้นดินดังกล่าวนั้นเป็นสนามเด็กเล่น สนามกีฬา ที่พักผ่อนหย่อนใจ หรือก่อสร้างอาคารบางประเภทได้ นิยมจัดทำเป็น 3 แบบ คือ
         - แบบร่องดิน ( Trench method )
         - แบบคันดิน ( Area – ramp method )
         - แบบถมที่ลุ่ม ( Area – fill method )
         - ซึ่งมีหลักเกณฑ์การปฏิบัติดังนี้
                 ร่องรวมขยะ นิยมทำเป็นร่องดินให้มีความกว้างพอที่รถขยะหลีกกันได้ 2 คัน ความลึกประมาณ 1.8 – 3.00 เมตร ด้านข้างทำมุม 30o กับก้นร่อง เมื่อรถขนขยะนำขยะมากองลงในร่องแล้วใช้รถแทรกเตอร์เกลี่ยและบดอัดทับขยะให้แน่น นำดินมาปิดทับผิวหน้าขยะพร้อมกับบดทับให้แน่นด้วยรถแทรกเตอร์ ชั้นบนสุดจะต้องกลบดินบดทับให้แน่นมีความหนาไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร ร่องดินแต่ละร่องควรเว้นห่างกันไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร ขยะที่นำมากำจัดจะต้องไม่ปล่อยให้กองทิ้งค้างไว้ในหลุมโดยเด็ดขาด หลังจากปรับระดับดินได้ตามต้องการแล้วจะปล่อยทิ้งไว้จนขยะสลายตัวสมบูรณ์ดีแล้ว จึงจะใช้ประโยชน์บนที่ดินนั้นได้ ในระหว่างการรอเวลาสลายตัวสมบูรณ์ดีนั้น ควรตรวจสอบอยู่เสมอ ๆ และความกั้นรั้วรอบบริเวณปฏิบัติการ เพื่อป้องกันการบุกรุกและการรบกวนอื่น ๆ การกำจัดขยะมูลฝอยวิธีการกลบฝังนี้จะต้องระวังไม่ก่อให้เกิดเหตุรำคาญและเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม โดยการเทขยะมูลฝอยลงไปแล้วเกลี่ยให้กระจาย บดอัดให้แน่นแล้วใช้ดินหรือวัสดุอื่นที่มีดินปูนอยู่ไม่น้อยกว่า 50 % กลบแล้วบดอัดให้แน่นอีกครั้งหนึ่ง
         วิธีการฝังกลบขยะมูลฝอยที่ดี คือ
         1. แบบถมพื้นที่ ( Area Method ) เป็นการฝังกลบขยะให้พื้นที่ที่เป็นหลุมเป็นบ่อ หรือเป็นพื้นที่ที่ต่ำอยู่ก่อนแล้ว และต้องการถมให้พื้นที่แห่งนั้นให้สูงขึ้นกว่าระดับเดิม เช่น บริเวณบ่อดินลูกรัง ริมตลิ่ง เหมืองร้าง หรือบริเวณที่ดินถูกขุดออกไปทำประโยชน์อย่างอื่นมาก่อนแล้ว เป็นต้น การฝังกลบลงในพื้นที่ เช่นนี้ก็จะเทขยะมูลฝอยลงไปได้เลย แล้วเกลี่ยขยะให้กระจายพร้อมกับบดอัดให้แน่น จากนั้นใช้ดินกลบแล้วจึงบดอัดให้แน่นอีกครั้งหนึ่ง
         2. แบบขุดเป็นร่อง ( Trench Method ) เป็นการกำจัดขยะมูลฝอยแบบฝังกลบในพื้นที่ราบ จึงต้องใช้วิธีขุดเป็นร่องก่อน การขุดร่องต้องให้มีความกว้างอย่างน้อยประมาณ 2 เท่าของขนาดเครื่องจักรกลที่ใช้ เพื่อให้ความสะดวกในการทำงานของเครื่องจักร ส่วนความลึกขึ้นอยู่กับระดับน้ำใต้ดินจะลึกเท่าไรก็ได้ แต่ต้องไม่ให้ถึงระดับน้ำใต้ดิน ส่วนมากจะขุดลึกประมาณ 2 – 3 เมตร และต้องทำให้ลาดเอียงไปทางใดทางหนึ่งเพื่อไม่ให้น้ำขังในร่องเวลาฝนตก ดินที่ขุดมาจากร่องก็กองไว้ทางด้านใดด้านหนึ่งสำหรับใช้เป็นดินกลบต่อไป นอกจากนั้นขยะมูลฝอยก็ทำเช่นเดียวกันกับแบบถมพื้นที่ คือ เมื่อเทขยะมูลฝอยลงไปในร่องแล้ว ก็เกลี่ยให้กระจาย บดทับให้แน่นแล้วใช้ดินกลบและบดทับอีกครั้งหนึ่ง มาตรการต่าง ๆ ในการดำเนินงานเพื่อป้องกันและควบคุมมิให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม
               1. ต้องควบคุมไม่ให้มีการนำขยะอันตรายมากำจัดรวมกับขยะทั่วไปในบริเวณที่ฝังกลบขยะ นอกจากจะมีมาตรการกำจัดโดยวิธีการพิเศษตามลักษณะของเสียนั้น ๆ
               2. ต้องควบคุมให้ขยะมูลฝอยกลบถูกกำจัดอยู่เฉพาะภายในขอบเขตที่กำหนดไว้ ทั้งบนพื้นผิวดินและใต้ดิน
               3. การใช้ดินกลบต้องมีการบดทับขยะมูลฝอยและดินกลบให้แน่นเพียงพอ ปกติอัตราส่วนของความหนาของชั้นขยะต่อความหนาของชั้นดินที่กลบ ปริมาณ 4 : 1
               4. ต้องมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เช่น ตรวจสอบการปนเปื้อนของแหล่งน้ำใต้ดินบริเวณ ใกล้เคียง
               5. ต้องคำนึงถึงทัศนียภาพของพื้นดินและบริเวณใกล้เคียง เช่น การจัดให้มีสิ่งป้องกันการปลิวของขยะหรือปลูกต้นไม้ล้อมรอบ เป็นต้น
         ข้อดี ข้อเสียของการกำจัดขยะมูลฝอยโดยวิธีฝังกลบ
         ข้อดี
            - ถ้ามีพื้นที่อยู่แล้วจะเป็นวิธีที่ประหยัดที่สุด
            - ค่าใช้จ่ายในการลงทุนครั้งแรกถูกกว่าวิธีอื่น
            - สามารถใช้ได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
            - กำจัดขยะมูลฝอยได้เกือบทุกชนิด
            - ได้พื้นที่ดินไปทำประโยชน์อื่น เมื่อฝังกลบเสร็จแล้วและง่ายต่อการดำเนินงาน
         ข้อเสีย
            - หาสถานที่ยากเพราะไม่มีชุมชนใดต้องการให้อยู่ใกล้
            - ต้องควบคุมการดำเนินงานฝังกลบให้ถูกต้อง
            - ก๊าซมีเทนที่เกิดจากการย่อยสลายของขยะมูลฝอย และน้ำชะขยะมูลฝอยอาจทำให้เกิดอันตรายได้
            - พื้นที่ฝังกลบบางแห่งต้องหาดินมาจากที่อื่น ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
         การฝังกลบ ที่ฝังกลบขยะต้องอยู่ห่างไกลชุมชนพอสมควร หลุมขนาดใหญ่ที่ขุดขึ้นต้องมีการกรุกันอย่างดี เพราะจะย่อยได้ง่าย การกำจัดขยะด้วยวิธีนี้มีปัญหาเรื่องการขนส่ง หากเมืองขนาดใหญ่อย่างกรุงเทพฯ จะขนขยะไปฝังกลบที่ไหนจึงจะไม่สิ้นเปลืองค่าขนส่งขยะจนเกินไป วิธีฝังกลบจึงทำได้เฉพาะเมืองขนาดเชียงใหม่ หาดใหญ่ นครราชสีมา ทำนองนั้น
     5. การนำขยะไปทิ้งทะเล ( Dumping at sea )
         ตามปกติ ผิวดินของพื้นน้ำแหล่งต่าง ๆ โดยเฉพาะทะเล มหาสมุทร เป็นที่ทับถมสิ่งปฏิกูลตาม ธรรมชาติได้อย่างกว้างขวางอยู่แล้ว แต่เมื่อในปัจจุบัน พื้นผิวโลกที่เป็นพื้นดินนับวันจะมีน้อยลงและมีค่า มากขึ้น การนำขยะไปทิ้งในทะเล มหาสมุทร จึงนิยมทำกันในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ในสหรัฐอเมริกา ขณะที่นิยมนำไปทิ้งในทะเล มหาสมุทร ได้แก่ สิ่งปฏิกูลจากโรงงานอุตสาหกรรม สารพิษต่าง ๆ กากสารกัมมันตรังสี และ วัสดุแข็งอื่นๆ
         อย่างไรก็ตาม การนำขยะและสิ่งปฏิกูลไปทิ้งในทะเล มหาสมุทร ก็ปรากฏว่าได้เกิดการแพร่กระจายของสารพิษเข้าสู่องค์ประกอบต่าง ๆ ของระบบนิเวศน์ทางทะเล เช่น พืช และ สัตว์น้ำ สถาบันป้องกันสารพิษสิ่งแวดล้อม ( Environmental Protection Agency ) จึงออกกฎหมายห้ามนำสารพิษหลายชนิดไปทิ้งในแหล่งน้ำดังกล่าว
         ข้อดี ของการกำจัดขยะโดยนำไปทิ้งทะเล
            - เป็นวิธีที่ง่าย
            - ทะเล มหาสมุทรกว้างใหญ่ รับขยะได้มาก
          ข้อเสีย
            - สารพิษเข้าสู่องค์ประกอบต่าง ๆ ของระบบนิเวศน์ทางทะเล แพร่กระจายไปทั่ว
            - การนำขยะไปทิ้งตามที่ลุ่มน้ำท่วมขัง ถมที่
         วิธีนี้มีปัญหาตามมามากคล้ายกับการเทกอง และปัญหาที่ร้ายคือการทำลายระบบนิเวศน์ที่น้ำขัง จากการทับถมโดยตรง จากกองขยะ และจากน้ำชะจากกองขยะที่มีความเป็นกรดสูง จะแพร่กระจายไปตามน้ำที่ท่วมขังอยู่เดิม ทำให้ที่ลุ่มตรงนั้นสกปรกอย่างทั่วถึงและยิ่งในหน้าฝนน้ำที่ท่วมขัง ขยะก็จะเอ่อล้นไปยังที่ใกล้เคียงได้ ขยะที่ทิ้งต้องเป็นประเภทที่ไม่มีสารพิษไม่มีเชื้อโรค
         6. การนำขยะกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ ( Re-cycle and Re-use )
         ขยะบางประเภทสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ใหม่ เช่น แก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะต่าง ๆ วิธีนี้ช่วยลดขยะและลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การนำกลับไปใช้ใหม่ ( Re-cycle and Re-use ) ขยะที่ทิ้งในแต่ละวันจากอาคารสถานที่ต่าง ๆ มากมายนั้น ยังนับว่ามีสิ่งของบางอย่างที่แม้ไม่มีประโยชน์สำหรับสถานที่หนึ่ง แต่อาจเป็นความต้องการของผู้อื่นได้ เช่น กระดาษทุกชนิด สามารถนำกลับไปทำเป็นกระดาษกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิตกระดาษลงได้ส่วนหนึ่งและเป็นการสงวนทรัพยากรธรรมชาติได้ด้วย หรือแม้แต่กล่องกระดาษที่ทิ้งตามบริษัท ห้างร้าน ก็อาจนำไปใช้บรรจุสินค้าต่าง ๆ ตามท้องตลาดได้ เป็นต้น
         การนำวัสดุที่ทิ้งเป็นขยะกลับไปใช้นับว่าเป็นผลดีทั้งในแง่เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม แต่วิธีการคัดเลือกสิ่งของที่จะนำกลับไปใช้ได้ใหม่ ได้ก่อให้เกิดความล่าช้าในการขนถ่ายขยะ เกิดความสกปรกในบริเวณที่มีการคัดเลือกสิ่งของจากขยะ และผู้คัดเลือกขยะก็มักได้รับเชื้อโรคจากกองขยะ
         7. การนำขยะไปเป็นอาหารสัตว์ ( Hog Feeding )
         ขยะจำพวกเศษอาหาร ผัก ผลไม้ จากอาคารบ้านเรือน ร้านอาหาร ภัตตาคาร ตลาดสด นำไปเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู วัว เป็ด ไก่ แพะ แกะ ปลา จะเป็นการลดปริมาณขยะลงได้จำนวนหนึ่ง เพราะในแต่ละวันเศษอาหารจะมีปริมาณนับร้อยตันทีเดียว การแยกขยะประเภทเศษอาหารเพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์จึงนับเป็นวิธีที่สะดวกและประหยัดได้มากที่สุด แต่ข้อเสียในการนำขยะพวกเศษอาหารไปเลี้ยงสัตว์นี้ อาจทำให้เกิดอันตรายแก่สัตว์เลี้ยงและผู้ที่บริโภคสัตว์เลี้ยงขึ้นได้ ถ้าในเศษอาหารมีพวกเชื้อโรคปะปนอยู่ และถ้าจะนำเศษอาหารที่ได้ไปให้ความร้อนก่อนก็จะทำให้เกิดความปลอดภัยยิ่งขึ้น
         นอกจากการกำจัดขยะด้วยวิธีต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ในประเทศที่พัฒนาแล้วยังมีการกำจัดขยะอื่น ๆ อีก เช่น การย่อยหรือการทำให้เศษอาหารเป็นของเหลวแล้วทิ้งลงในท่อน้ำทิ้ง ซึ่งเป็นการกำจัดขยะขั้นต้นจากบ้านเรือน การอัดสิ่งปฏิกูลที่เป็นของเหลวลงสู่ใต้ชั้นหิน ซึ่งมักเป็นการกำจัดสิ่งปฏิกูลจากโรงงานอุตสาหกรรม และการทิ้งสิ่งปฏิกูลลงสู่ถังรองรับที่จัดสร้างขึ้นเพื่อการกำจัดสิ่งปฏิกูลขึ้นโดยเฉพาะ แต่ไม่ได้กล่าวเน้นถึงวิธีกำจัดขยะดังกล่าว เพราะเป็นวิธีที่ยังไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในประเทศไทยในปัจจุบัน
         ขยะและสิ่งปฏิกูลนับวันจะยิ่งมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งขยะและของเสียจะเพิ่มความเป็นพิษหรือเป็นอันตรายแก่สิ่งแวดล้อมและการดำรงชีวิตของมนุษย์มากยิ่งขึ้น แม้จะได้มีความพยามยามป้องกันแก้ไขและกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลเหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่การป้องกันแก้ไขจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกประเทศและประชาชนทุกคน ในขณะที่มีการเพิ่มปริมาณขยะและสิ่งปฏิกูลมากขึ้น และยังขาดความร่วมมือในการป้องกันแก้ไขอยู่นี้ จึงเป็นที่หวั่นวิตกกันว่าโลกที่เราอาศัยอยู่นี้จะเต็มไปด้วยขยะ สิ่งปฏิกูลและสารพิษ แล้วจะก่อให้เกิดโรคระบาดขึ้นอย่างกว้างขวางจนไม่อาจป้องกันรักษาได้ทันท่วงทีได้ในอนาคต
การกำจัดขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร
         การกำจัดขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ใช้วิธีการทำลาย 4 วิธี คือ
         1. วิธีหมักเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ในปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีโรงงานหมักขยะอยู่ 2 โรงงาน คือ โรงงานหมักขยะที่อยู่ซอยอ่อนนุช และที่หนองแขม โรงงานทั้งสองมีความสามารถรับขยะไปหมักเป็นปุ๋ยได้เพียง 100 ตัน / วัน ดังนั้นขยะที่เหลือจากการนำเข้าโรงงานจึงถูกนำไปเทกองทิ้งไว้กลางแจ้งให้ย่อยสลายเองตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ( ขณะนี้ที่รามอินทรายกเลิกการดำเนินงาน ทั้งโรงงานหมักปุ๋ยอินทรีย์และที่เทกองกลางแจ้ง รวมทั้งยกเลิกเทกองขยะมูลฝอยที่ซอยวัชรพลด้วย )
         2. การเทกองกลางแจ้งให้ย่อยสลายเองตามธรรมชาติ มีสถานที่เทกองกลางแจ้ง 3 แห้ง คือ บริเวณโรงหมักขยะอ่อนนุช หนองแขม และสถานีขนถ่ายมูลฝอยแขวงท่าแร้ง
         3. การเผา การเผาขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร จะทำเฉพาะขยะมูลฝอยติดเชื้อที่เก็บมาจากสถานพยาบาลในกรุงเทพมหานคร และขยะมูลฝอยส่วนที่ถูกแยกออกมาจากขยะมูลฝอยของโรงงานซึ่งไม่สามารถใช้หมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้
         4. การฝังกลบอย่างถูกสุขลักษณะ กรุงเทพมหานครได้จ้างเอกชนให้นำขยะมูลฝอยจากโรงงานกำจัดขยะหนองแขมและสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยท่าแร้ง เขตบางเขน ไปฝังกลบอย่างถูกสุขลักษณะที่ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม  
การใช้ประโยชน์จากขยะหรือมูลฝอย จะช่วยลดปริมาณขยะหรือมูลฝอย ที่ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
        1. การคัดแยกของเสียจากแหล่งกำเนิดมาหมุนเวียนใช้ใหม่
        การคัดแยกของเสียจากแหล่งกำเนิด คือของเสียจากอาคารบ้านเรือนที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ขวด กระดาษ พลาสติก ยาง โลหะ ฯลฯ ซึ่งจะนำของเสียดังกล่าวไปขายต่อ ๆ ไปจนถึงโรงงานเพื่อผลิตเป็นสินค้าได้
        2. การนำมูลฝอยหรือของเสียมาใช้ประโยชน์ด้านพลังงาน
        ของเสียมีสารประกอบจำนวนมากที่สามารถเปลี่ยนเป็นผลผลิตทางพลังงาน โดยขบวนการเผาไหม้จากมูลฝอยสามารถใช้ประโยชน์ในด้านพาณิชย์และอุตสาหกรรม ทั้งสามารถเก็บเป็นพลังงานได้อีก
        3. การนำกากของเสียไปเป็นอาหารสัตว์และใช้ประโยชน์ทางการเกษตร
        กากของเสียชนิดมูลฝอยสดมีคุณค่าทางอาหารสัตว์และพืช จากผลการศึกษาพบว่ามูลฝอยสดประเภทอาหารจำนวน 2.5 – 3 กิโลกรัม มีคุณค่าเทียบเท่าข้าวบาเลย์คุณภาพดี จำนวน 1 กิโลกรัม สามารถนำไปเลี้ยงสัตว์ได้ และขยะหรือของเสียยังผลิตเป็นโปรตีน โดยเทคโนโลยีใหม่ เรียกว่า ไบโอเวสเทค ( Biowastech ) หมายถึง การแปรรูปขยะโดยชีววิธี สามารถเปลี่ยนขยะหรือกากของเสียทั้งจากโรงงานอุตสาหกรรมและจากบ้านเรือนให้เป็นผลิคภัณฑ์ที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ นอกจากนี้สามารถใช้มูลฝอยสดเป็นประโยชน์ทางการเกษตร คือ ใช้เป็นอาหารของพืชได้ เพราะมูลฝอยสดมีคาร์บอนและไนโตรเจนสูง มูลฝอยสดยังมีคุณสมบัติปรับดินให้ร่วนซุยด้วย ทั้งนี้การนำกากของเสียไปเป็นอาหารสัตว์ และพืชจะต้องมีการปรับปรุงคุณภาพของเสีย บดอัด และฆ่าเชื้อโรคในกากของเสียก่อน เพื่อมิให้เป็นอันตรายต่อสัตว์และพืช และให้ได้ประโยชน์จากอาหารในกากของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ
        4. การนำมูลฝอยมาหมักทำปุ๋ย
        การหมักทำปุ๋ยเป็นขบวนการทางชีวเคมีที่เปลี่ยนแปลงหรือย่อยสลายสารอินทรีย์ในของเสีย เพื่อได้ปุ๋ยเป็นอาหารของพืช หรือใช้ดินกลบฝังมูลฝอยในขบวนการฝังกลบมูลฝอย กากของเสียหรือมูลฝอยที่ เหมาะสมสำหรับการหมักปุ๋ย ได้แก่ มูลฝอยสด พืช ผัก ผลไม้ กระดาษ เป็นต้น
         5. การนำขยะหรือมูลฝอยมาแปรสภาพให้เป็นวัตถุก่อสร้าง
        ในประเทศญี่ปุ่นมีโรงงานอัดขยะหรือของเสียให้เป็นแท่ง แท่งขยะที่ได้นำไปชุบยางและแอสฟัลด์หรือเทคอนกรีต จากนั้นนำไปใช้ในการก่อสร้างแทนอิฐ หรือคอนกรีตบล็อก
         6. การนำกากของเสียมาปรับปรุงพื้นที่
        กากของเสียสามารถนำไปใช้ปรับปรุงพื้นที่ โดยถมพื้นที่ที่เป็นหลุมเป็นบ่อพื้นที่ที่ต้องการยกระดับความสูง เมื่อถมกากของเสียในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว สามารถนำพื้นที่นั้น ๆ ไปใช้ประโยชน์ เช่น ปลูกพืช สร้างอาคาร สร้างสวนสาธารณะ เป็นต้น  
จัดทำโดย ครูอรุณีย์ วงษ์ศรีปาน
โรงเรียนร่อนพิบูลย์เกียรติวสุนธราภิวัฒก์ อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
Copyright (c) 2008 Miss.Arunee Wongsripan. All rights reserved.