วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การนำผักตบชวาไปใช้ประโยชน์

การนำผักตบชวาไปใช้ประโยชน์

ถิ่นกำเนิด ในแถบลุ่มน้ำอะเมซอน ประเทศบราซิล ในทวีปอเมริกาใต้ มีดอก สีม่วงอ่อน คล้ายช่อดอกกล้วยไม้ และแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วจนกลายเป็นวัชพืชที่ร้ายแรงในแหล่งน้ำทั่วไป

ปัญหาในแหล่งน้ำ ผักตบชวาได้ เข้ามาแพร่ระบาดในแหล่งน้ำจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อแม่น้ำ คูคลอง และระบบนิเวศน์ในประเทศไทย ผักตบชวามีการแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ใน 1เดือน ผักตบชวา 1 ต้นอาจขยายพันธุ์ได้มากถึง 1,000 ต้น และถึงแม้น้ำจะแห้งจนต้นตาย แต่เมล็ดของผักตบชวาก็ยังมีชีวิตต่อไปได้นานถึง 15 ปี และทันทีที่เมล็ดได้รับน้ำที่เพียงพอ มันก็จะแตกหน่อเป็นต้นใหม่ต่อไป จนกลายเป็นปัญหาทางน้ำ เป็นปัญหาต่อการสัญจรทางน้ำและต่อสภาวะแวดล้อม ซึ่งทวีความรุนแรงจนเป็นปัญหาระดับประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องเสียงบในการกำจัดผักตบชวา ซึ่งหน่วยงานและส่วนราชการและ อปท. ต่างต้องใช้เวลาและงบประมาณในการกำจัด ไม่ใช่น้อย ในการกำจัดผักตบชวา ตามแหล่งน้ำต่างๆ แต่ก็ยังไม่สามารถกำจัดให้หมดสิ้นไปได้

ปัญหาการสาธารณสุข เป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำซึ่งบางชนิดเป็นพาหะนำโรค เช่น หอยไบธีเนียที่เป็นพาหะนำโรคพยาธิใบไม้ในตับ เป็นที่อาศัยของลูกน้ำของยุงนำโรคเท้าช้าง เป็นที่อาศัยวางไข่ของยุงอื่นๆ ทำให้การใช้ยากำจัดในการกำจัดหอย เป็นไปได้โดยยากและสิ้นเปลืองมาก
- เป็นที่อาศัยสัตว์ร้าย เช่น งูพิษ ซึ่งเป็นอันตรายต่อราษฎร เมื่อแพผักตบชวาลอยไปติดเรือนแพ หรือ ท่าน้ำ หรือในการพัฒนาแหล่งน้ำโดยการใช้แรกงานดึงขึ้นจากน้ำ นอกจากนั้น หนูที่อาศัยอยู่บนแพ ผักตบชวา ก็อาจแพร่เชื้อโรคกาฬโรคได้

การนำมาใช้ประโยชน์ การใช้ประโยชน์จากผักตบชวา มีวิธีการต่างๆ เช่น

1. การทำสิ่งประดิษฐ์ ใช้ทำเป็นของใช้ต่างๆ เช่น กระเป๋าถือ เปลญวน เครื่องจักสาน
นำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับงานหัตถกรรม เช่น รองเท้าแตะ ตระกร้าใส่เสื้อผ้า ถาดรอง
ผลไม้ ถาดรองแก้วน้ำ กล่องใส่กระดาษทิชชู ฯลฯ

2. ด้านปศุสัตว์ ใช้เป็นอาหารสัตว์ ใบผักตบชวาใช้นำมา เลี้ยงสุกร เลี้ยงไก่ เนื่องจากมีคุณค่าทางสารอาหาร  พบว่าใบผักตบชวาเมื่อนำมาตากแห้งมีโปรตีนประมาณร้อยละ 14-20 ไขมันร้อยละ 1-2.5 กากหรือเยื่อใยประมาณร้อยละ17-19 คุณค่าทาง สารอาหารจะผันแปรตามความอ่อนแก่ของใบผักตบชวาใบอ่อนจะมี คุณค่าทางอาหารสูงกว่าใบแก่ และขึ้นอยู่กับสัดส่วนของก้านและใบ โดยทั่วไปส่วนของใบจะมีคุณค่า
ทางอาหารสูงกว่าก้านใบ

3. ด้านการเกษตร นำมาทำเป็นปุ๋ยหมัก สำหรับการปลูกพวกพืชผักอื่นๆ คลุมต้นไม้ที่ปลูกเอาไว้ให้เกิดความชุ่มชื้นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากผักตบชวามีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำได้ดี ทำเป็นวัสดุปรับปรุงดิน ใช้ในการเพาะเห็ดโดยนำผักตบชวาขึ้นมาจากน้ำปล่อยทิ้งเอาไว้ประมาณชั่วโมงเศษๆ ใช้มีดสับเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 5-10 ซม. ทั้งส่วนราก ลำต้นและใบ แล้วจึงนำไปเพาะเห็ดฟางได้เหมือนกับการเพาะโดยใช้ฟางข้าว

4. ด้านอาหาร ดอกอ่อนและก้าน ใบอ่อน กินเป็นผักลวกจิ้มน้ำพริกหรือทำแกงส้ม

5. ด้านสมุนไพร ใช้แก้พิษภายในร่างกาย และขับลม ใช้ทาหรือพอกแก้แผลอักเสบ

6. ด้านการบำบัดน้ำเสีย ใช้ผักตบชวากรองน้ำเสีย เพราะผักตบชวามีคุณสมบัติทำหน้าที่เป็นตัวกรอง ซึ่งเรียกว่า เครื่องกรองน้ำธรรมชาติ คือ การนำผักตบชวา ซึ่งเป็นวัชพืชที่มีอยู่มาก มาทำหน้าที่ดูดซับความโสโครก และสารพิษจากแหล่งน้ำเน่าเสีย และในเวลาเดียวกัน ก็ต้องหมั่นนำผักตบชวาออกจากบึงทุกๆ 10 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้ผักตบชวามี
การเจริญพันธุ์จนบดบังแสงแดดที่จะส่องลงไปในบึง สถานที่แรกในประเทศไทยที่ใช้
การบำบัดด้วยวิธีนี้คือ "บึงมักกะสัน" ซึ่งเป็นโครงการบึงมักกะสันอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยใช้หลักการบำบัดน้ำเสียตามแนวทฤษฎีการพัฒนาโดยการกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวา

7. ด้านพลังงาน โดยใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยใช้ผักตบชวาเป็นตัวเชื่อมประสานในการทำ
แท่งเชื้อเพลิงจากฟางข้าวและแกลบ

เนื้อหาจาก
http://www.reo06.net/home/images/upload/file/report/pranom250609.pdf